แนวความคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อประชาชน เช่น บัญญัติว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการ และงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน (มาตรา 75) รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย (มาตรา 80) รัฐต้องส่งเสริมการสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง (มาตรา 82) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ (มาตรา 86) เป็นต้น (สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักกฎหมาย, 2547)
การบริการสาธารณะ (public services) การบริหารภาครัฐเป็นการบริหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวอยู่ที่ความพึงพอใจของประชาชน ความสำเร็จของการบริหารภาครัฐวัดกันที่การให้บริการ (services) เพราะภารกิจของภาครัฐ คือ การให้บริการสาธารณะหรือบริการประชาชน หลักในการบริการประชาชนมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมกัน โปร่งใส เป็นธรรม เชื่อถือได้ ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ผู้บริการต้องให้บริการด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส ด้วยความรวดเร็ว ทันใจ ด้วยความเต็มใจต้องให้เกียรติลูกค้าหรือประชาชน (วรเดช จันทรศร, 2542, หน้า 1-4) การบริการภาครัฐต้องสนองตอบต่อความต้องการของสังคม สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะ (Haque, 2001, p. 65) การให้บริการประชาชนเป็นกิจกรรมของรัฐที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในรัฐและดำเนินการให้เป็นไปตามกติกา โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ความมั่นคงแห่งรัฐและความอยู่ดีกินดีของประชาชนในสังคม หน้าที่ของรัฐจึงได้แก่การจัดการในเรื่องความสงบเรียบร้อย การบำบัดทุกข์บำรุงสุข การพัฒนาบริการสาธารณะ และการกระจายบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในสังคม รัฐจึงมีหน้าที่จัดบริการที่หลากหลาย มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย (ศุภชัย ยาวะประภาษ, 2541, หน้า 1) รัฐบาลจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาค เป็นธรรมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2548) การบริการประชาชนโดยหน่วยงานของรัฐ เป็นการอำนวยความสะดวกที่หน่วยงานของรัฐจัดให้แก่ประชาชน ทั้งนี้อาจกำหนดให้ประชาชนไปรับบริการที่หน่วยงานของรัฐหรืออาจส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้บริการในจุดที่ประชาชนสะดวกก็ได้ (ปรัชญา เวสารัชช์, 2540, หน้า 6) การบริการสาธารณะหรือการบริการประชาชนมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ดำเนินการให้ด้วยความรวดเร็ว มีความถูกต้อง ด้วยความเสมอภาค และเป็นธรรม สำหรับประชาชนส่วนใหญ่และเป็นไปด้วยความประหยัดทั้งในด้านเวลา ค่าใช้จ่าย เพื่อความพอใจ ประทับใจ มั่นใจจากผู้รับบริการทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม (วรเดช จันทรศร, 2541, หน้า 6-7) เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ต้องให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการตรวจประเมินว่า ส่วนราชการกำหนดความต้องการ ความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร รวมทั้งส่วนราชการมีการดำเนินการอย่างไรในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับบริการ และการกำหนดปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้เสียมีความพึงพอใจ เพื่อนำไปสู่การกล่าวถึงในทางที่ดี (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2548)
การปกครองแบบประชาธิปไตย (democracy) ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองประเทศรูปหนึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการว่า ประชาชนเป็นผู้ปกครองตนเองและมีผู้แทนที่ได้รับเลือกมาอย่างเสรี และมีฝายบริหารที่รับผิดชอบต่อประชาชนและยังหมายถึง วิถีชีวิตซึ่งตั้งอยู่บนฐานคติพื้นฐานแห่งความเสมอภาคของปัจเจกชนทุกคนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านชีวิต ร่างกาย และวิธีที่จะแสวงหาความสุข (Sills, 1968, p. 182) และปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร การค้าไร้พรมแดน สังคมมีความหลากหลาย องค์กรอาสาสมัคร กลุ่มผลประโยชน์ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคที่สนใจสามารถรับรู้ข่าวสาร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน แนวทางการจัดการสมัยใหม่จึงเห็นว่า หน่วยงานของรัฐต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (Kakabadse, Kakabadse, & Kouzmin, 2003, p. 44) การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่หลายประเทศในโลกยึดปฏิบัติอยู่ แนวปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องให้ความสำคัญและรับรู้สิทธิของแต่ละบุคคล การปรับตัวตามสภาพแวดล้อม การบริหารต้องเน้นการมีส่วนร่วม ต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายในสังคม (อุทัย เลาหวิเชียร, 2544, หน้า 163) การบริหารงานแบบประชาธิปไตย คือ การนำเอาแนวคิดของประชาธิปไตยมาใช้ในการบริหารรัฐกิจ ซึ่งก็คือ การคำนึงถึงความสำคัญของแต่ละบุคคล เสรีภาพ เสมอภาค การมีส่วนร่วมในการบริหาร การควบคุมผู้กำหนดนโยบาย (อุทัย เลาหวิเชียร, 2544, หน้า 170)
จุดแข็งของประชาธิปไตยก็ คือ หากดำเนินนโยบายผิดพลาด ก็ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือกคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทนได้ แต่ในระบบเผด็จการความผิดพลาด คือความผิดพลาดที่ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะกลุ่มบุคคลเดียวกันครองอำนาจไว้ อาจมีโอกาสที่เผด็จการแก้ไขความผิดพลาดบ้าง แต่ก็เป็นได้น้อยเต็มที่คุณค่าของประชาธิปไตยนั้น
มิได้อยู่แค่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่อัตราคนจนที่ลดน้อยลง หากแต่อยู่ที่คุณภาพของจิตใจของประชาชนที่มีเสรีภาพในการเลือก ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ในการมีคุณค่าที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และในการไม่ถูกข่มเหงรังแกจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่ (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2548) รัฐบาลหรือระบบการบริหารแบบประชาธิปไตยจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ข้าราชการจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน และจะต้องแยกแยะความแตกต่างให้ได้ ในการสนองตอบต่อการเรียกร้องจากกลุ่มหลากหลาย (Appleby, 1965, p. 334) ส่วน Schmitter and Karl (อ้างถึงใน อมร รักษาสัตย์, สมบูรณ์ สุขสำราญ, สุรพล ราชภัณฑารักษ์,ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์ และวิรัช วิรัชนิภาวรรณ, 2543, หน้า 40-41) กล่าวว่า องค์ ประกอบของระบอบประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรึกษาหารือกัน เพื่อให้มีความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (participation) ระบอบประชาธิปไตยต้องสนองตอบความต้องการของประชาชน (responsiveness) เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule) อำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐสภา (parliamentary sovereignty) รัฐสภาต้องมีหน้าที่ตรากฎหมาย กระบวนการทางการเมืองจะผ่านการกลั่นกรองของกลุ่มหลากหลาย สามเสาหลัก (three pillars) ของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ สิทธิของประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง ถูกต้องและทันสมัย สิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ, 2544)
ส่วนประเทศไทยหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดสิทธิให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น บทบาทภาครัฐจึงต้องสนองตอบต่อระเบียบสังคมตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้สิทธิตรวจสอบกิจกรรมของรัฐมากขึ้น เช่น บัญญัติให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภา ให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การละเลยหน้าที่ของข้าราชการ และหน่วยงานของรัฐให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้มีคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการเลือกตั้ง บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่ระบุให้ออกจากตำแหน่งได้ รวมทั้งบัญญัติให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น (สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักกฎหมาย, 2547)
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=7477.0
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น