วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำศัพท์ องค์การอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์และกฎหมายแข่งขัน 1

1. Abuse of Dominant Position (การใช้สถานะการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในการจำกัดการแข่งขัน)
          พฤติกรรมทางการค้าที่จำกัดการแข่งขันโดยบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดเพื่อที่จะรักษาหรือเพิ่มสถานะในตลาด ซึ่งถือว่าเป็น "การใช้ประโยชน์จากการมีอำนาจเหนือตลาดโดยไม่เหมาะสมหรือมิชอบ" เพื่อควบคุมตลาด และมุ่งหมายที่จะจำกัดการแข่งขันพฤติกรรมทางการค้าที่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขัน จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม อาจรวมถึงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ การตั้งราคาสูงเกินไป (excess prices) การเลือกปฏิบัติด้านราคา (price discrimination) การขายสินค้าตัดราคา (predatory pricing) การสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมด้านราคาโดยบริษัทที่รวมตัวกัน (price squeezing by integrated firms) การปฏิเสธที่จะขาย หรือทำธุรกรรมด้วย (refusal to deal/sell) การขายพ่วง (tied selling) หรือการบังคับซื้อ (product bundling) และการให้สิทธิ์ในการซื้อได้ก่อน (pre-emption of facilities)

          2. Acquisition (การเข้าซื้อกิจการ)
          การที่บริษัทหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือเข้าควบคุมบริษัทอื่นบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการควบรวมธุรกิจ (merger) คือการเข้าซื้อกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมบริษัท (amalgamation) หรือการควบรวมธุรกิจ (merger) แต่เป็นการรวมสินทรัพย์ของทุกบริษัทจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (consolidation) แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการจะมีการเปลี่ยนการเข้าควบคุมโดยสิ้นเชิง แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องอาจจะยังคงดำเนินการเป็นอิสระอยู่ แม้กระนั้นการควบคุมบริษัทร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุดและเป็นเรื่องที่องค์กรกำกับดูแล การแข่งขันให้ความสนใจ

          3. Agreement to lessen or restrict competition (การทำความตกลงร่วมกันเพื่อลด หรือจำกัดการแข่งขัน)
          การทำความตกลงร่วมกันหมายถึงการทำความตกลงร่วมกันทั้งแบบเปิดเผย และไม่เปิดเผยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท การทำความตกลงที่จะจำกัดการแข่งขันอาจเป็นเรื่องราคา การผลิตตลาด และลูกค้า ซึ่งการทำความตกลงประเภทนี้มักจะเหมือนกับคาร์เทล (cartel) หรือการสมรู้ร่วมคิด (collusion) และศาลจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขัน เนื่องจากมีผลเพิ่มราคาสินค้า จำกัดผลผลิต และผลที่เกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจการทำความตกลงร่วมกันอาจเป็นแบบเป็นทางการและอาจเขียนเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรที่เด่นชัดหรือไม่เด่นชัดแต่เป็นที่เข้าใจตรงกันในหมู่สมาชิก การทำความตกลงร่วมกันที่เด่นชัดไม่จำเป็นต้องเป็นการทำความตกลงแบบเป็นทางการและ "เปิดเผย" ซึ่งผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่ตกลงร่วมกันสามารถสังเกตเห็น ในความเป็นจริงแล้ว การทำความตกลงร่วมกันที่เป็นการจำกัดการแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นแบบซ่อนเร้นซึ่งองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันไม่สามารถตรวจพบได้ง่ายไม่ใช่การตกลงร่วมกันทุกประเภทจะเป็นผลร้ายต่อการแข่งขันหรือถูกห้ามตามกฎหมายการแข่งขัน กฎหมาย

          การแข่งขันในหลายประเทศยกเว้นการจัดการร่วมกันระหว่างบริษัท ซึ่งอาจส่งเสริมประสิทธิภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงในตลาด ตัวอย่างเช่น อาจยอมให้มีการตกลงร่วมกัน ระหว่างบริษัทในการที่จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบเดียวกันเพื่อที่จะส่งเสริมการประหยัดต่อขนาด เพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเผยแพร่เทคโนโลยี ในทำนองเดียวกันอาจยอมให้บริษัทร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสถิติ หรือการลงทุนร่วมกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงและก่อตั้งกองทุนรวมในโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การยกเว้นนี้โดยทั่วไปมีพื้นฐานมาจากการทำความตกลงร่วมกันหรือการจัดการที่ไม่ใช่การกำหนดราคาหรือพฤติกรรมที่จำกัดการแข่งขันประเภทอื่น

          4. Anti-competitive Practices (พฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขัน)
          พฤติกรรมการค้าต่าง ๆ โดยบริษัทหรือกลุ่มบริษัทในการที่จะจำกัดการแข่งขันระหว่างบริษัท เพื่อรักษาหรือเพิ่มสถานะในตลาดและผลกำไร โดยไม่จำเป็นต้องขายสินค้าและให้บริการในราคาต่ำลงหรือมีคุณภาพสูงขึ้นปัจจัยสำคัญของการแข่งขันคือบริษัทจะต้องมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งการดำเนินการทางการค้าอาจถูกคัดค้านถ้าหากบริษัทพยายามที่จะจำกัดการแข่งขันโดยการไม่สร้างความได้เปรียบแต่ใช้สถานะในตลาดของตนเพื่อที่จะทำให้คู่แข่ง ลูกค้าและผู้ขายเสียเปรียบซึ่งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ผลผลิตลดลง ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง สูญเสียประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการจัดสรรทรัพยากรไม่เหมาะสมพฤติกรรมทางการค้าประเภทใดน่าจะถือว่าเป็นการลดการแข่งขันและฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่กรณี อาจเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายโดยไม่ต้องพิสูจน์ (per se illegal) หรือพิจารณาภายใต้หลักเหตุผล (rule of reason)

          ตัวอย่างเช่น การกำหนดราคาขายต่อ (resale price maintenance) ส่วนใหญ่จะถือว่าผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องพิสูจน์ ในขณะที่การร่วมกันจำกัดมิให้บุคคลที่สามซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการอื่น (exclusive dealing) อาจพิจารณาภายใต้หลักเหตุผล ในประเทศสหรัฐ การตกลงร่วมกันกำหนดราคาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่ต้องพิสูจน์ ในขณะที่ในประเทศแคนาดา การตกลงร่วมกันจะต้องมีผลครอบคลุมตลาดส่วนใหญ่ พฤติกรรมจำกัดการแข่งขันแบ่งออกได้เป็นการจำกัดในแนวนอนและแนวดิ่งพฤติกรรมในแนวนอนรวมถึงคาร์เทล (cartel) การสมรู้ร่วมคิด (collusion) การสมคบกัน (conspiracy) การควบรวมกิจการ (merger) การกำหนดราคาขายต่ำ (predatory pricing) การเลือกปฏิบัติด้านราคา (price discrimination) และการตกลงร่วมกันกำหนดราคา (price fixing) พฤติกรรมประเภทที่สองรวมถึงการจำกัดมิให้บุคคลที่สามซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการอื่น(exclusive dealing) การจำกัดตลาดในเชิงภูมิศาสตร์ (geographic market restrictions) การปฏิเสธที่จะขายหรือทำธุรกรรมด้วย (refusal to deal/sell) การกำหนดราคาขายต่อ (resale price maintenance) และการขายพ่วง (tied selling)

          โดยทั่วไปแล้ว การจำกัดในแนวนอนจะต้องมีคู่แข่งขันในตลาดใน ขณะที่การจำกัดในแนวดิ่ง จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายและผู้จัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างการจำกัด ในแนวนอนและแนวดิ่งมักจะไม่ชัดเจนและพฤติกรรมประเภทหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมอีกประเภทหนึ่ง

          5. Antitrust (การต่อต้านการผูกขาด)
          การต่อต้านการผูกขาดเป็นกฎหมายและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการกับการผูกขาดและพฤติกรรมผูกขาด กฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือนโยบายต่อต้านการผูกขาดเป็นคำที่ใช้ในประเทศสหรัฐ ในขณะที่ประเทศอื่นใช้คำว่ากฎหมายหรือนโยบายการแข่งขัน บางประเทศใช้วลีว่า "กฎหมายการค้าที่เป็นธรรมหรือกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Fair Trading or Antimonopoly Law)" กฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือกฎหมายการแข่งขันส่วนใหญ่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น การควบรวมธุรกิจ (merger) การผูกขาด (monopoly) สถานะการมีอำนาจเหนือตลาด (dominant -market position) และการกระจุกตัว (concentration) รวมทั้งพฤติกรรมเช่น การสมรู้ร่วมคิดกัน (collusion) การกำหนดราคา (price fixing) และการกำหนดราคาขายต่ำ (predatory pricing)

ที่มา : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=2440.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น