วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แนวความคิด ทฤษฎีในการคุ้มครองผู้บริโภค 3

แนวความคิดทางด้านเทคโนโลยี

           พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า เทคโนโลยี หมายถึง“วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 538)
           คำว่า เทคโนโลยี ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Technology” ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า“Technologia” แปลว่า การกระทำที่มีระบบ อย่างไรก็ตามคำว่าเทคโนโลยี มักนิยมใช้ควบคู่กับคำว่าวิทยาศาสตร์โดยเรียกรวม ๆ ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น, 2549)
           ผดุงยศ ดวงมาลา ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีว่า ปัจจุบันมีความหมายกว้างกว่ารากศัพท์เดิมคือ หมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ทางอุตสาหกรรม ถ้าในแง่ของความรู้ เทคโนโลยี จะหมายถึง ความรู้หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตในอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์หรืออาจสรุปว่า เทคโนโลยี คือความรู้ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เอง ทั้งในแง่ความเป็นอยู่และการควบคุมสิ่งแวดล้อม (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น, 2549)  
           สิปปนนท์ เกตุทัต อธิบายว่า เทคโนโลยี คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ มาผสมผสานประยุกต์เพื่อสนองเป้าหมายเฉพาะตามความต้องการของมนุษย์ด้วยการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตและจำหน่ายให้ต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการเทคโนโลยี จึงมักจะมีคุณประโยชน์และเหมาะสมเฉพาะเวลาและสถานที่และหากเทคโนโลยีนั้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีนั้นจะเกื้อกูลเป็นประโยชน์ทั้งต่อบุคคลและส่วนรวม หากไม่สอดคล้องเทคโนโลยีนั้น ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามหาศาล (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น, 2549)
           ธรรมนูญ โรจนะบุรานนท์ กล่าวว่า เทคโนโลยี คือ ความรู้วิชาการ รวมกับความรู้วิธีการ และความชำนาญที่สามารถนำไปปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิภาพสูง โดยปกติเทคโนโลยีนั้นมีความรู้วิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย นั่นคือ วิทยาศาสตร์เป็นความรู้เทคโนโลยีเป็นการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงมักนิยมใช้สองคำด้วยกัน คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเน้นให้เข้าใจว่าทั้งสองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป จึงจะมีประสิทธิภาพสูง (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น, 2549)
           ชำนาญ เชาวกีรติพงศ์ ได้ให้ความหมายสั้น ๆ ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการประกอบวัตถุเป็นอุตสาหกรรม หรือวิชาช่างอุตสาหกรรม หรือการนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางปฏิบัติ จากการที่มีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้หลากหลาย สรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิชาที่นำเอาวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ตามความต้องการของมนุษย์ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น, 2549)
           เทคโนโลยี หมายถึง “ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการ หรือศาสตร์ว่าด้วยการจัดการหรือจัดแจงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้” (นิคม ทาแดง, กอบกุล ปราบประชา และอำนวย เดชชัยศรี, 2545, หน้า 1) เทคโนโลยี คือ การเอาความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ (know-how) โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน (พลเรือตรี อำนาจ จันทนมัฏฐะ, 2529, หน้า 1)
           เทคโนโลยี เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ โดยสามารถนำไปใช้ในสาขาต่าง ๆ กัน และเรียกชื่อไปตามสาขาที่ใช้ เช่น เทคโนโลยีการเกษตรใช้ในการคิดค้นวิธีการ เครื่องมือ ปัจจัยในการผลิตทางการเกษตร เทคโนโลยีทางการแพทย์ ใช้ในการคิดค้นการตรวจรักษาโรค การผลิตยา และเครื่องมือทางการแพทย์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร ใช้ในการค้นหา การส่งข้อมูลทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ วิทยุคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, คณะครุศาสตร์, โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการศึกษา, 2549)
           เทคโนโลยีนี้ถึงแม้บ่อยครั้งจะใช้หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยใช้ความรู้ที่เพิ่งค้นพบหรือพัฒนาขึ้นมา แต่สิ่งประดิษฐ์โบราณ เช่น ล้อเกวียน นั้นก็นับเป็นเทคโนโลยี เทคโนโลยี มีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลานาน เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้แก้ปัญหาพื้นฐาน ในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูกที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ในระยะแรกเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ไม่สลับซับซ้อนเหมือนดังปัจจุบัน การเพิ่มของประชากร และข้อจำกัดด้านทรัพยากร ธรรมชาติ รวมทั้งมีการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นปัจจัยด้านเหตุสำคัญในการนำและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี มีความสัมพันธ์กันมาก เทคโนโลยีเกิดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับประเทศตะวันตกได้ศึกษาค้นคว้าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยหลักสำคัญคือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือ การพยายามที่อธิบายว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนั้น (why) เช่น นักฟิสิกส์อธิบายว่าเมื่อขดลวดตัดสนามแม่เหล็กจะได้กระแสไฟฟ้า และน้ำเกิดจากไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจน เป็นต้น เทคโนโลยีเป็นการประยุกต์นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่มวลมนุษย์ (วิกิพีเดีย, 2549)

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=7477.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น