วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แนวความคิด ทฤษฎีในการคุ้มครองผู้บริโภค 1

แนวความคิด ทฤษฎีในการคุ้มครองผู้บริโภค

              ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ซึ่งได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2548ฃ)            
              ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือบริการ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2548ข)
              ผู้บริโภคมักมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการแบบ “ต่างคนต่างซื้อ” ดังนั้น แม้จะเป็นฝ่ายที่มีจำนวนมาก แต่ก็มีอำนาจต่อรองน้อยเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากสภาพของการทำธุรกิจที่ต้องลงทุนร่วมกัน แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลด้านธุรกิจกัน จึงมีโอกาสที่จะรวมตัวกันเป็น“กลุ่ม” หรือ “องค์กร” เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง นอกจากนั้นแล้ว ความล้มเหลวในตลาดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้บริโภคมีความเสียเปรียบมากขึ้น จนทำให้รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อที่จะให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ (เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และสุธีย์ ศุภนิตย์, 2541, หน้า 1)

ทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ
              ทฤษฎีทางเลือกสาธารณะหรือบางท่านเรียกว่า การบริหารแบบประชาธิปไตยการนำเอาความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาช่วยแก้ไขปัญหาและเป็นการนำเอาปรัชญาการบริหารแบบประชาธิปไตยมาใช้ เพราะวิกฤติการณ์ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (พิทยา บวรวัฒนา, 2529, หน้า 21) ในขณะที่ Mueller (อ้างถึงใน วรเดช จันทรศร, 2531, หน้า 82) กล่าวว่า ทางเลือกสาธารณะเป็นการนำเอาหลักวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการวินิจฉัยสั่งการในภาครัฐ และ Bish (อ้างถึงใน วรเดช จันทรศร, 2531, หน้า 82)อธิบายว่า ทฤษฎีทางเลือกสาธารณะมุ่งที่จะนำความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการตลาด(market behavior) มาอธิบายถึงพฤติกรรมการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในภาครัฐ ตลอดจนมุ่งที่จะนำเอากลไกการตลาดมาปรับปรุง เพื่อให้การตัดสินใจในภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
              ทางเลือกสาธารณะ (public choice) ตั้งสมมติฐานพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลไว้ว่า มนุษย์คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก (self interest) มนุษย์มีเหตุผลในการตัดสินใจ (rationality) มีความสามารถที่จะเลือกว่าชอบทางใดมากกว่ากัน ปัจเจกบุคคลต้องการเลือกในทางเลือกที่ตนเองได้รับผลประโยชน์สูงสุด (benefit-maximizing)ทางเลือกขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสาร เพื่อลดความไม่แน่นอนให้เหลือน้อยที่สุด (uncertainty minimizing) ซึ่งจะบรรลุผลได้จะต้องมีข้อมูลมากและมีทางเลือกมากพอ (Ostrom, 1964)
             ทางเลือกสาธารณะจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการบริหารหรือเป็นทางออกที่สำคัญได้ เช่น ทางเลือกสาธารณะยอมรับในฐานคติที่ว่า พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล (individual behavior) มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีนิสัยเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบ (corruptible) ทางเลือกสาธารณะตระหนักว่า ปัจเจกบุคคลเหล่านั้นมักจะใช้อำนาจทางการเมือง (political authority) เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคล ทางแก้คือ ต้องแบ่งซอยอำนาจให้มีหลายศูนย์อำนาจ (different authorities) โครงสร้างรัฐธรรมนูญต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ชุมชน (allocates decision making) กำหนดขอบเขตแห่งอำนาจของหน่วยงานภาครัฐในระดับต่าง ๆ ให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต้องตัดสินใจให้เป็นไปในรูปของหลักเหตุและผล สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ทางเลือกสาธารณะตระหนักว่าการจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มหลากหลายตลอดจนความเป็นไปได้ทางการเมืองในแต่ละเรื่อง (political feasibility) ทางเลือกสาธารณะยอมรับในความแตกต่างของสินค้าและบริการสาธารณะแต่ละประเภท ความแตกต่างเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยวิธีการบริหารที่แตกต่างกัน โดยต้องตระหนักว่าระบบบริหารขนาดใหญ่ที่ใช้การจัดสายการบังคับบัญชาลดหลั่นกันลงไป การให้ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบต่อศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว จะไม่มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนและสภาพแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ และเห็นว่าระบบการบริหารตามสายการบังคับบัญชา ทำให้การบริการของรัฐ เป็นไปอย่างไม่ประหยัด ล่าช้า และไม่อาจใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ และเชื่อว่าการจัดองค์กรแบบกระจายอำนาจและมีหลายศูนย์ หลายระดับคาบเกี่ยวกัน (overlapping jurisdictions) หรือเปิดให้มีการแข่งขันอย่างหลากหลายภายในเขตปกครองเดียวกัน จะเป็นเงื่อนไขให้ระบบนั้น สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Ostrom, 1973, pp. 111-112)
              ในปี ค.ศ. 1970 มีการศึกษาระบบการบริหารของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม คือ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นิวซีแลนด์และสวีเดน พบว่า ประเทศเหล่านั้นมีนโยบายให้ภาครัฐขยายตัวอย่างช้า ๆ โดยการจำกัดวงเงินงบประมาณให้การบริหารภาครัฐขับเคลื่อนโดยกลไกการตลาด เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ให้มีการจ้างเหมา ให้มีการบริการภาครัฐจากหลาย ๆ ทาง (many public services) โดยลดกฎ ระเบียบ ให้มีสิทธิเสรีภาพ และให้มีความเท่าเทียมกัน (Schwartz, 1994) ส่วน Osborne and Gaebler (1992, pp. 49, 76, 166-167, 252, 280) กล่าวว่า การปรับปรุงระบบราชการของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปรับเปลี่ยนให้ระบบราชการเป็นระบบที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ให้ประชาชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรทางศาสนา องค์กรธุรกิจและองค์กรชุมชนต่าง ๆ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้ระบบราชการมีลักษณะของการแข่งขันในการให้บริการสาธารณะกระจายออกไปให้ทั่วทุกพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อป้องกันการผูกขาด (competitive government)ต้องการให้ภาครัฐทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้ถือเสมือนว่าประชาชนเป็นลูกค้ามากกว่าทำงานเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง (customer driven government) ให้มีการกระจายอำนาจในระบบราชการ โดยเน้นให้ข้าราชการระดับปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และทำงานเป็นทีม (decentralized government)เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็ว ทันสถานการณ์ (circumstances & customers’ need) ไปบริการใกล้บ้านหรือใกล้ที่เกิดเหตุ (closest to problem) และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงหลักการบริหาร ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ปรับเปลี่ลี่ยนไปตามกลไกของตลาด ให้กลไกตลาดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
              Peters (1996, pp. 22, 49, 91) เห็นว่า การบริหารภาครัฐแนวใหม่ต้องเน้นการทำลายการผูกขาดโดยรัฐ เพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและเข้ามามีบทบาทแทนที่รัฐ การบริหารภาครัฐจึงถูกกลไกการตลาดเข้ามาแทนที่ (market model) ความรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ จะสะท้อนโดยกลไกการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการ เน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม (participatory state) ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนระบบจากการกำกับดูแลและการควบคุมมาเป็นการลดกฎ ระเบียบภาครัฐ (deregulated government) และการกระจายอำนาจ ส่งเสริมการดำเนินงานโดยเสรีส่วน Robbins and Coulter (1999, pp. 4-5) มีความเห็นว่า การบริหารภาครัฐควรมีความยืดหยุ่น มีการทำงานเป็นทีม เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คำนึงถึงผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยมีเครือข่ายในการทำงานและสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลาสอดคล้องกับความเห็นของ Raynor and Bower (2001, p. 93) ที่ว่า ภาครัฐต้องมีความคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์  http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=7477.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น