อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของไทยเริ่มได้รับการพัฒนาหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สมรรถนะทางเศรษฐกิจและวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนามากว่า 50 ปี มีทั้งโอกาสทางการตลาด ปัญหาและอุปสรรค ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศโดยสรุปดังนี้ (จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, 2546, หน้า 141, 163, 168) พ.ศ. 2498 นโยบายภาครัฐเน้นการคุ้มครองและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
พ.ศ. 2514 อุตสาหกรรมสิ่งทอขยายตัวอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. 2518 ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการส่งออก การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยาย ตัวอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. 2524 รัฐบาลอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิต
พ.ศ. 2530 อุตสาหกรรมสิ่งทอส่งออกสูงสุดอันดับหนึ่งในประเทศ
พ.ศ. 2533 ประเทศไทยติดอันดับผู้ส่งออก 10 อันดับแรกของโลก
พ.ศ. 2534 รัฐบาลอนุญาตโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าโดยเสรี
พ.ศ. 2538 เศรษฐกิจเริ่มชลอตัว ปรับลดภาษีนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปลงจากร้อยละ 60
พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย
พ.ศ. 2545 ภาครัฐส่งเสริมโครงการกรุงเทพมหานคร เมืองแฟชั่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและส่งเสริมให้กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
พ.ศ. 2546 นักวิชาการไทยร่วมกับทีมงานของ Porter ศึกษาโครงการการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
พ.ศ. 2548 1 มกราคม 2548 การค้าสิ่งทอโลกปราศจากโควต้า ภายใต้ข้อตกลงร่วม (The Agreement on Textile and Clothing--ATC)
โดยสรุปนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ถึง ปี พ.ศ. 2539 อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกระดับแนวหน้าของโลกและมีอัตราการขยายตัวในการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมาอัตราการส่งออกก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุประการหนึ่งอาจเนื่องจากสภาวะการแข่งขันของตลาดโลกเริ่มสูงขึ้น
แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าไทย ปี พ.ศ. 2544 และโครงการกรุงเทพมหานครเมืองแฟชั่น ปี พ.ศ. 254 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่ข้อมูลการศึกษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดย จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช (2546, หน้า 174) พบว่า คุณภาพเสื้อผ้า ที่ผลิตในประเทศยังต้องมีการพัฒนาเครื่องหมายการค้า และการตลาดเชิงรุก
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการแข่งขันอย่างรุนแรง จากผลกระทบการเปิด เขตการค้าเสรี (Free Trade Area--FTA) และการส่งออกที่ปราศจากโควต้าตามข้อตกลงร่วม (Agreement on Textile and Clothing--ATC) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอันเกิดจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้าระดับล่างสูง ส่งผลให้เสื้อผ้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศของไทย ที่มีส่วนแบ่งที่ค่อนข้างแน่นอนและคงที่มายาวนาน
ปัญหาการตลาดด้านอุปทาน (supply) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ผ่านมาพบว่า กว่าร้อยละ 90 เป็นการรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturing--OEM) ให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อส่งออกส่งผลให้ขาดการตลาดเชิงรุก มูลค่าเพิ่มในการส่งออกอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 10-35 ของมูลค่าสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง (Own Brand Manufacturing--OBM) ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการส่งออกถึงร้อยละ 50-75 ของมูลค่าสินค้า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดย จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช (2546) ยังพบว่า ปัญหาการตลาดด้านอุปสงค์ (demand) ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคภายในประเทศไม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าคุณภาพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ผู้บริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่นิยมสินค้าระดับกลางและล่าง ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย (จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, 2546, หน้า 166; กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 2544, หน้า 1-41) อุปสงค์ของผู้บริโภคภายในประเทศ ส่งผลต่อสถานะอุตสาหกรรมแฟชั่นเสื้อผ้าปัจจุบันอยู่กึ่งกลาง (comparative nutcracker) ระหว่างสินค้าระดับกลางและระดับล่าง ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันทั้งสองระดับ โดยตลาดระดับกลางต้องเผชิญกับคู่แข่งซึ่งมีความได้เปรียบด้านชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ การออกแบบและคุณภาพ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ขณะที่ตลาดระดับล่างต้องเผชิญกับการแข่งขันจากจีนและเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรงงานต่ำ และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น ฝ้าย ไหมและเส้นใยประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสิ่งทอยังคงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศ จากการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทักษะที่เกิดจากการรับจ้างผลิตที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อแรงงานไทยให้มีทักษะด้านฝีมือแรงงานสูง ดังนั้น หากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพเสื้อผ้าไปยังตลาดระดับกลางและระดับบน ซึ่งมีคู่แข่งน้อยรายกว่า นอกจากเป็นการพัฒนาคุณภาพอุปสงค์แล้ว ยังอาจเป็นการเพิ่มโอกาสการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อการส่งออกได้อีกทางหนึ่งด้วย (จักรมณฑ์ ผาสุก วนิช, 2546, หน้า 211; โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, 2540, หน้า 8 )
บรรณานุกรม
เพชรรัตน์ วิริยะสืบพงศ์. (2550). อิทธิพลของความเชื่อด้านวัฒนธรรม เจตคติการบริโภค และการรับรู้ภาพลักษณ์เสื้อผ้าต่อความตั้งใจซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศของวัยรุ่นไทย. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (บริหารธุรกิจ). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม. (2544). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการ การประเมินผลความสำเร็จของแผนปฏิบัติการเพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม (พ.ศ.2541-2545). กรุงเทพมหานคร: ผู้แต่ง.
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช. (2546).โครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์. (2540). อุตสาหกรรมสิ่งทอกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ.
10 ตุลาคม 2554
ที่มา : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=6449.0
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น