วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำศัพท์ องค์การอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์และกฎหมายแข่งขัน 3

11. Collusion (การสมรู้ร่วมคิดกัน)
          การสมรู้ร่วมคิดกัน หมายถึงการร่วมมือกัน (combination) การสมคบกัน (conspiracy) หรือการทำความตกลงร่วมกัน (agreement) ในหมู่ผู้ขายเพื่อที่จะขึ้นราคาสินค้าหรือกำหนดราคาสินค้า และลดผลผลิตเพื่อเพิ่มผลกำไร การสมรู้ร่วมคิดกันแตกต่างจากคาร์เทลคือการสมรู้ร่วมคิดกันไม่จำเป็นต้องมีการทำความตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยระหว่างสมาชิก อย่างไรก็ตาม ผลต่อเศรษฐกิจของการสมรู้ร่วมคิดกันและคาร์เทลจะเหมือนกันและมักจะใช้สองคำนี้แทนกันเสมอองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันมองว่า การสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทที่จะขึ้นราคาสินค้าหรือกำหนดราคาสินค้าและลดผลผลิตเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันที่ร้ายแรงที่สุด

          การสมรู้ร่วมคิดกัน จะทำได้ง่ายเมื่อมีผู้ขายน้อยรายและผลิตสินค้าเหมือนกัน การสมรู้ร่วมคิดกันไม่จำเป็นต้องมีการทำความตกลงร่วมกันหรือการสื่อสารกันแบบเปิดเผยระหว่างบริษัท ในตลาดผู้ขายน้อยรายบริษัทมักจะพึ่งพาอาศัยกันในการตัดสินใจเรื่องราคาสินค้าและผลผลิต ดังนั้นการดำเนินการของแต่ละบริษัทจะเกิดผลกระทบและก่อให้เกิดการตอบสนองในทางตรงข้ามโดยบริษัทอื่น ในสถานการณ์เช่นนี้บริษัทอาจพิจารณาพฤติกรรมของคู่แข่งขันและร่วมมือกันเป็นคาร์เทลโดยไม่มีการทำความตกลงร่วมกันอย่างเปิดเผยซึ่งพฤติกรรมการร่วมมือกันเช่นนี้เรียกว่า tacit collusion หรือ conscious parallelism

ปัจจัยที่อาจช่วยให้เกิดการตกลงร่วมกันกำหนดราคารวมถึง
          1) ความสามารถที่จะขึ้นหรือรักษาราคาสินค้า ถ้าหากอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำหรือมีสินค้าทดแทนอยู่ การสมรู้ร่วมคิดกันจะไม่ประสบผลสำเร็จ และบริษัทไม่มีแรงจูงใจที่จะยังคงสมคบกันหรือเข้าร่วมสมคบกันด้านราคา
          2) บริษัทไม่ได้คาดหวังว่าการสมรู้ร่วมคิดกันจะถูกตรวจพบได้ง่ายหรือถูกลงโทษรุนแรง หรือถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้วผลกำไรจากการสมรู้ร่วมคิดกันจะสูงกว่าค่าปรับและสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเสียชื่อเสียงของบริษัทมาก
          3) ค่าใช้จ่ายขององค์กรต่ำ ถ้าหากการเจรจาระหว่างบริษัทถูกเลื่อนออกไปและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการตรวจสอบสูง การสมรู้ร่วมคิดกันจะเกิดได้ยาก
          4) ผลิตสินค้าที่เหมือนกันหรือคล้ายกันมาก การทำความตกลงร่วมกันให้ราคาเป็นแบบเดียวกันทำได้ยากถ้าหากสินค้าแตกต่างกัน เช่นในด้านคุณภาพ และความทนทาน ดังนั้นจึงเป็นการยากที่บริษัทจะตรวจพบว่าการเปลี่ยนแปลงยอดขาย เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความชอบของผู้ซื้อหรือการโกงของบริษัทในรูปการขายตัดราคาที่เป็นความลับ
          5) อุตสาหกรรมมีการกระจุกตัวสูงหรือมีบริษัทขนาดใหญ่สองสามราย เมื่อจำนวนบริษัทน้อย ค่าใช้จ่ายในการสมรู้ร่วมคิดกันมักจะต่ำ ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการตรวจพบบริษัทซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามราคาที่กำหนดจะสูงขึ้น
          6) การมีสมาคมอุตสาหกรรมหรือสมาคมการค้า สมาคมมักจะเป็นแหล่งความร่วมมือในกิจกรรมทางการค้าและการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งอาจช่วยในการสมรู้ร่วมคิดกัน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรและค่าใช้จ่ายในการตรวจพบการร่วมมือกันการสมรู้ร่วมคิดกันไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยปัจจัยทั้งหมดหรือปัจจัยบางประการที่กล่าวถึงข้างต้นในตลาดที่กำหนด นอกจากนี้มีปัจจัยจำนวนมากซึ่งอาจจำกัดการสมรู้ร่วมคิดกัน เช่น ลักษณะที่ต่างกันของสินค้า ความแตกต่างของค่าใช้จ่ายระหว่างบริษัท เงื่อนไขในธุรกิจ การมีลูกค้าที่มีประสบการณ์ในการซื้อมาก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความถี่ในการซื้อสินค้า แรงจูงใจที่จะตัดราคากันอย่างลับ ๆ และส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

          12. Combination (การร่วมมือกัน)
          การร่วมมือกันหมายถึงการจับกลุ่มกันเพื่อให้เกิดการผูกขาด คาร์เทลหรือการทำความตกลงร่วมกันเพื่อที่จะขึ้นหรือกำหนดราคาหรือจำกัดผลผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น ซึ่งคำนี้ใช้แทนได้กับการสมคบกัน (conspiracy) และการสมรู้ร่วมคิดกัน (collusion) ด้วย

          13. Competition (การแข่งขัน)
          การแข่งขันเป็นสถานะการณ์ในตลาดซึ่งบริษัทหรือผู้ขายต่อสู้เพื่อให้ได้ผู้ซื้อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะทางธุรกิจ เช่น กำไร ยอดขาย และ/หรือส่วนแบ่งตลาด การแข่งขันระหว่างบริษัทอาจเกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทสองบริษัทหรือมากกว่านั้นแข่งขันกันในรูปราคา คุณภาพ บริการหรือปัจจัยข้างต้นรวมกันรวมทั้งปัจจัยอื่นซึ่งมีผลต่อลูกค้า

          14. Concentration (การกระจุกตัว)
          การกระจุกตัวหมายถึงระดับซึ่งบริษัทถือครองยอดขาย สินทรัพย์หรือการจ้างงานใน สัดส่วนของยอดรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในตลาดสินค้าหรือบริการเดียวกันโดยพิจารณาได้ทั้งการกระจุกตัวของตลาดผู้ซื้อและ/หรือตลาดผู้ขาย

          15. Conglomerate (การรวมบริษัท)
          การรวมบริษัทหมายถึงบริษัทซึ่งมีการดำเนินธุรกิจต่างกันในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยการรวมบริษัทอาจเกิดจากการควบรวมธุรกิจ (merger) และการเข้าซื้อกิจการ (acquisition) และการลงทุนข้ามอุตสาหกรรมด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น การลดความเสี่ยง การเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินและการบริหารมากขึ้นการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรวมบริษัทจะทำให้เกิดการลดการแข่งขันได้ง่ายขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินข้ามบริษัทในธุรกิจที่ได้กำไรน้อย เพื่อมุ่งหมายที่จะจำกัดการแข่งขันและการจัดการแบบต่างตอบแทนกับบริษัทที่รวมกันอื่น ๆ ในการซื้อและขายวัตถุดิบและผลผลิต

          16. Conscious Parallelism (การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเป็นแนวเดียวกันและสินค้าเหมือนกัน)
          การดำเนินการด้านราคาและผลผลิตของบริษัทหนึ่งในตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินการด้านราคาและผลผลิตของบริษัทคู่แข่งขัน บริษัทจะตระหนักถึงความเป็นจริงนี้และจะมีพฤติกรรมร่วมกันโดยไม่มีการตกลงที่เปิดเผยราวกับว่าบริษัทเข้าร่วมในพฤติกรรมการรวมหัวกันหรือคาร์เทลเพื่อกำหนดราคาและจำกัดผลผลิต ความกลัวที่จะมีพฤติกรรมแยกจากพฤติกรรมเช่นนี้อาจนำไปสู่การขายสินค้าตัดราคา การขายสินค้าที่มีกำไรลดลงและความไม่คงที่ของส่วนแบ่งตลาดอาจทำให้ผู้อื่นมีแรงจูงใจที่จะรักษาข้อตกลงที่ไม่เปิดเผยนี้ไว้ ราคาที่เป็นแบบเดียวกันอาจเป็นผลลัพท์ในตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายและมีสินค้าเหมือนกัน แต่การที่มีราคาสินค้าเป็นแนวเดียวกันและสินค้าเหมือนกันไม่เพียงพอที่จะระบุว่าเกิดการรวมหัวกัน การทำความตกลงร่วมกันหรือคาร์เทลจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นที่เกิดจากลักษณะตลาด หรือโครงสร้างอุตสาหกรรมด้วย

          17. Consolidation (การควบกิจการโดยการรวมสินทรัพย์)
          การควบกิจการโดยการรวมสินทรัพย์โดยทั่วไปกล่าวถึงการร่วมมือกัน (combination) หรือการรวมบริษัท (amalgamation) ของบริษัทสองบริษัทหรือมากกว่านั้นเป็นบริษัทใหม่จากการถ่ายโอนสินทรัพย์สุทธิโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหม่อาจถูกจัดระบบให้แตกต่างไปจากการควบรวมธุรกิจ (merger)

          18. Conspiracy (การสมคบกัน)
          การสมคบกันตามปกติเป็นการทำความตกลงร่วมกันแบบไม่เปิดเผยหรือเป็นความลับระหว่างบริษัทที่แข่งขันกันเพื่อที่จะให้ได้กำไรสูงขึ้น โดยการเข้าร่วมทำความตกลงเพื่อที่จะกำหนดราคาและจำกัดผลผลิต คำว่าการร่วมมือกัน (combination) การสมคบกัน (conspiracy) การตกลงร่วมกัน (agreement) และการสมรู้ร่วมคิดกัน (collusion) มักจะใช้แทนกันได้

          19. Control of Enterprise (การมีอำนาจควบคุมบริษัท)
          การมีอำนาจควบคุมบริษัทจะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนหรือกลุ่มนักลงทุนถือหุ้นสามัญที่มีสิทธิออกเสียงมากกว่า 50% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัท อย่างไรก็ตาม การมีอำนาจควบคุมบริษัทจะมีผลเมื่อนักลงทุนคุมเสียงส่วนใหญ่ของผู้ถือหุ้น แม้จะถือหุ้นน้อยกว่า 50% แต่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากยังคงถือหุ้นที่เหลืออยู่ การใช้อำนาจควบคุมบริษัทอาจทำการไขว้คณะกรรมการบริหารและการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างบริษัทเหมือนอย่างในกรณีของการรวมบริษัท (conglomerate)

          20. Diversification (การกระจายกิจการหรือการลงทุนของธุรกิจ)
          การกระจายกิจการหรือการลงทุนของธุรกิจเป็นการขยายบริษัทในสินค้าหรือตลาด อีกประเภท การกระจายกิจการที่สัมพันธ์กันเกิดขึ้นเมื่อบริษัทขยายเข้าไปในประเภทของสินค้าที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่นผู้ผลิตรถยนตร์อาจผลิตยานพาหนะเพื่อโดยสารและรถบรรทุกเล็ก การกระจายกิจการที่ไม่สัมพันธ์กันเกิดขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตอาหาร ผลิตรองเท้าหนังด้วย การกระจายกิจการอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุผลต่าง ๆ คือเพื่อการถือเอาประโยชน์จากลักษณะเสริมต่อกันและกันในการผลิตและเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด เพื่อลดความเสี่ยง เพื่อให้รายได้คงที่และเอาชนะสภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าการกระจายกิจการที่สัมพันธ์กันอาจมีกำไรมากกว่าการกระจายกิจการที่ไม่สัมพันธ์กัน

ที่มา : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=2440.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น