วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปัญหาและสภาพแวล้อมของธุรกิจเสื้อผ้า

 จากรายงานโครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยทีมวิจัยของ จักรมณฑ์  ผาสุกวนิช (2546, หน้า 197-200) โครงการ การประเมินผลความสำเร็จของแผนปฏิบัติการเพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกับกลยุทธ์ของการวิจัยและพัฒนาของ วีระศักดิ์  อุดมกิจเดชา และปราณี  รัตนวลีดิโรจน์ (2540) อุตสาหกรรมสิ่งทอกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทย และแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ (โฆสิต   ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, 2540, หน้า 8 )

           การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค
           จุดแข็ง (Strength)           
            1. อุตสาหกรรมไทยมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 50 ปี ส่งผลต่อความชำนาญของผู้ประกอบการ
            2. มีการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
            3. มีแรงงานพอเพียง
            4. การรับจ้างผลิตที่ผ่านมา ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทย
            5. มีช่องทางการตลาดเดิมสำหรับตลาดในประเทศ ทำให้มีความสามารถด้านการตลาด ทั้งความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ
            6. มีความร่วมมือและสนับสนุนจากสมาคมเอกชน หน่วยงานราชการทั้งมหาวิทยาลัยและกระทรวงหลายแห่ง
            จุดอ่อน (Weakness)
            1. ต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร
            2. ขาดบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านการผลิต การตลาด
            3. ขาดแรงงานที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยี
            4. ค่าจ้างแรงงานไทยสูงกว่าประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกือบ 2 เท่า สูงกว่า เวียดนามประมาณ 3 เท่า
            5. แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับล่าง เช่นเดียวกับประเทศจีน และ อินโดนีเซีย ทำให้ขาดแคลนแรงงานระดับช่างฝีมือ
            6. ขาดทักษะด้านการออกแบบเฉพาะทาง
            7. ยังไม่สามารถสร้างชื่อตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสินค้าคุณภาพได้
            8. ขาดการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
            9. ขาดแคลนข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และ ทันเหตุการณ์ เช่น ข่าวสารความนิยมด้านแฟชั่น เครือข่ายด้านการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบจากต่างประเทศ
            10. ที่ผ่านมาส่วนใหญ่รับจ้างผลิต ส่งผลให้ขาดทักษะในการทำการตลาดเชิงรุก
            11. คุณภาพวัตถุดิบไม่ดีพอ ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ
            โอกาส (Opportunity)
            1. หากต้องการแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นตลาดระดับบน ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ส่งผลให้สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด แต่มีราคาที่ถูกกว่า
            2. ประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะ ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านคุณภาพ
            3. มีหน่วยงาน SMEs คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และฝึกฝนผู้ประกอบการ
            4. ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยยังมีปัญหาการเมืองภายใน เช่น จีน และ อินโดนีเซีย ขณะเดียวกันทำให้ประเทศไทยมีโอกสาเปิดตลาดสินค้าในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่
            5. มีการช่วยเหลือจาก BOI แก่ผู้ประกอบการในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
            6. มีทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขึ้นจากผลวิจัยขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
            อุปสรรค (Threats)
             1. ค่าเงินขาดเสถียรภาพ ทำให้ต้องเสี่ยงกับการรับคำสั่งซื้อในอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
            2 ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาด้านการจัดส่ง การคมนาคม ขนส่ง และการสื่อสารให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
            3. เทคโนโลยียังมีความล้าหลังและขาดแคลนการส่งเสริมและพัฒนา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น การฟอก ย้อม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
            4. ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ส่งผลต่อความต้องการการแต่งกาย  ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังขาดข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนารูปแบบสินค้าที่ชัดเจน
            5. ขาดบุคลากรที่มีทักษะและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การออกแบบ
            6. อุปสงค์ภายในประเทศไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคแต่เป็นความนิยมตามแฟชั่นตะวันตก ทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการไม่มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง
            ขนาดของตลาด
            ผลจากการศึกษาขีดความสามารถทางการแข่งขันอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่น (จักรมณฑ์  ผาสุกวนิช, 2546, หน้า 224, 229) พบว่า ตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความแตกต่างด้านคุณภาพและราคา ประกอบด้วย ระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง ขนาดของตลาดเสื้อผ้าในประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับกลางและระดับล่าง คุณภาพ ราคาปานกลางและต่ำ การบริโภคภายในประเทศมีอัตราค่อนข้างคงที่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539-2544 โดยในปี พ.ศ. 2544 มีการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 57.1 ของปริมาณการผลิต และเพื่อการส่งออกร้อยละ 42.9
           อัตราการเติบโต
            อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเปรียบเทียบจาก การจ้างงานมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-พ.ศ. 2541 ส่วนปี พ.ศ. 2542-พ.ศ. 2544 อัตราการเติบโตของการจ้างงานคงที่ ในปี พ.ศ. 2544 ภาพรวมการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอคิดเป็นร้อยละ 21.29 จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดที่มีการจ้างงานจำนวน 5,090,400 คน (จักรมณฑ์  ผาสุกวนิช, 2546, หน้า 211)

            ปัจจุบัน GDP อุตสาหกรรมสิ่งทอปี พ.ศ. 2548 เท่ากับ 307,368 ล้านบาท มีอัตราการจ้างงานจำนวน 1,064,370 คน อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสูงถึง 825,650 คน  คิดเป็นร้อยละ 78 ของการจ้างงานทั้งวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ (สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, 2550)

ที่มา : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=6449.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น