วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำศัพท์ องค์การอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์และกฎหมายแข่งขัน 4

21. Divestiture (การขายกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด)
          การขายกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการซื้อขายส่วนของกิจการ แผนกหรือสาขา การขายกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดอาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากบริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อที่จะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือตลาดใดตลาดหนึ่ง องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันอาจบังคับให้ขายกิจการอันเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการหรือการเข้าซื้อกิจการซึ่งน่าจะจำกัดการแข่งขันอย่างเห็นได้ชัด การขายกิจการในสถานการณ์หลังนี้มุ่งหมายเพื่อรักษาการแข่งขันที่มีอยู่ในตลาด การขายกิจการอาจเกิดขึ้นเป็นส่วนของนโยบายเพื่อที่จะลดการกระจุกตัวในอุตสาหกรรม

          22. Dominant Firm (บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด)
          บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด คือบริษัทซึ่งมีส่วนแบ่งมากในตลาดที่กำหนดและมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าคู่แข่งที่ใหญ่เป็นอันดับสองมาก ตามแบบปฏิบัติผู้มีอำนาจเหนือตลาดคือผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาด 40% หรือมากกว่านั้น บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดอาจเพิ่มปัญหาด้านการแข่งขันเมื่อบริษัทมีอำนาจที่จะกำหนดราคาอย่างอิสระ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดมักจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ขายน้อยราย อย่างไรก็ตาม มักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สมส่วนกันเนื่องจากบริษัทมีขนาดไม่เท่ากัน ตามปกติบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดจะมีคู่แข่งขันรายเล็กจำนวนมากและมีผู้ที่อาจเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก

          23. Excess Price (ราคาสินค้าที่สูงเกินไป)
          ราคาสินค้าที่สูงเกินไป คือราคาที่กำหนดเหนือระดับราคาที่มีการแข่งขันอันเป็นผลมาจากการผูกขาดหรืออำนาจตลาด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่ปรากฎการสมคบกันหรือการตกลงร่วมกันกำหนดราคาหรือหลักฐานของอำนาจตลาดที่เกิดจากการกระจุกตัวสูงจึงเป็นการยากที่จะกำหนดเกณฑ์ว่าราคาสูงระดับใดจึงถือว่าสูงผิดปกติหรือสูงโดยไม่สมควร เนื่องจากวิธีการเบื้องต้นในการจัดการผลิตในตลาดใช้ระบบราคา ดังนั้น ความยืดหยุ่นของราคาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ราคาจะขึ้นลงเพื่อให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน การขาดแคลนอุปทานในระยะสั้นหรือการเพิ่มอุปสงค์จะทำให้ราคาสูงขึ้นและเกิดแรงจูงใจที่จะผลิตมากขึ้นและผู้จำหน่ายรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

          24. Export Cartel
          Export Cartel เป็นการทำความตกลงร่วมกันหรือการจัดการระหว่างบริษัที่จะคิดราคาส่งออกเฉพาะและ/หรือเพื่อที่จะแบ่งตลาดส่งออก กฎหมายการแข่งขันหลายประเทศได้ยกเว้นการทำความตกลงร่วมกันเช่นนี้จากข้อกำหนดเกี่ยวกับการสมคบกัน โดยเสนอว่าคาร์เทลไม่ได้นำไปสู่ผลที่เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ เช่นนำไปสู่การตกลงร่วมกันกำหนดราคาหรือก่อให้เกิดการลดการส่งออก เหตุผลในการอนุญาตการรวมหัวกันส่งออกคือการตกลงร่วมกันประเภทนี้จะช่วยในการ่วมกันเข้าแทรกซึมตลาดต่างประเทศ การถ่ายโอนรายได้จากผู้บริโภคต่างประเทศไปสู่ผู้ผลิตภายในประเทศและก่อให้เกิดสมดุลทางการค้า

          25. Extraterritoriality (การใช้กฎหมายของประเทศหนึ่งภายในเขตอำนาจศาลของอีกประเทศหนึ่ง)
          Extraterritoriality จะเกิดขึ้นถ้าหากการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศหนึ่งมีผลลดการแข่งขันในอีกประเทศหนึ่งซึ่งประเทศนั้นถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ตัวอย่างเช่น การรวมหัวกันส่งออกโดยบริษัทซึ่งอาจได้รับการยกเว้นจากกฎหมายแข่งขันของประเทศ A แต่อาจถูกมองว่าเป็นการทำความตกลงร่วมกันกำหนดราคาเพื่อจำกัดการแข่งขันในตลาดของประเทศ B และถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศ B อีกสถานะการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการรวมธุรกิจระหว่างบริษัทที่แข่งขันกันสองบริษัทในประเทศหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างเห็นได้ชัดในตลาดของอีกประเทศหนึ่งบริษัทอาจฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันของอีกประเทศสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเป็นสำคัญ คือ ลักษณะของความสัมพันธ์ของการปกครองระหว่างประเทศ ประเทศที่มีการฝ่าฝืน สถานะทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นและการดำเนินงานของสาขาและสินทรัพย์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการทางกฎหมาย

          26. Failing Firm (บริษัทที่ล้มเหลว)
          บริษัทที่ล้มเหลว คือบริษัทซึ่งมีผลกำไรเป็นลบอย่างต่อเนื่องและเสียส่วนแบ่งตลาดไปจนถึงระดับที่บริษัทน่าจะเลิกกิจการ บริษัทที่ล้มเหลวเป็นประเด็นในการวิเคราะห์การควบรวมธุรกิจ เมื่อบริษัทที่เข้าซื้อได้โต้แย้งว่าการซื้อบริษัทเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดผลลดการแข่งขันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบริษัทนั้นน่าจะออกไปจากตลาดแล้ว ถ้าหากเป็นจริงเช่นนั้นส่วนแบ่งตลาด "ในขณะนี้" ของบริษัทที่ล้มเหลวอาจไม่มี "นัย" ต่อการแข่งขันในอนาคต

          27. Franchising (การทำความตกลงแฟรนไชส์)
          การทำความตกลงแฟรนไชส์เป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งระหว่างสองบริษัทที่เป็น "ผู้ให้ แฟรนไชส์ (franchisor)" และ "ผู้รับแฟรนไชส์ (franchisee)" โดยทั่วไปสองบริษัทมีสัญญากันว่าผู้ให้ แฟรนไชส์จะขายสินค้า เครื่องหมายการค้า หรือวิธีการทางธุรกิจและบริการที่ได้รับการตรวจสอบให้แก่ผู้รับแฟรนไชส์แต่ละรายเพื่อแลกกับชื่อเสียงของบริษัทและการจ่ายเงิน สัญญาอาจครอบคลุมถึงราคาสินค้าการโฆษณา สถานที่ ประเภทของร้านจัดจำหน่าย พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น การทำความตกลงแฟรนไชส์โดยทั่วไปอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการจำกัดในแนวดิ่ง ข้อตกลงแฟรนไชส์อาจช่วยให้การเข้าสู่ตลาดของบริษัทหรือสินค้าใหม่ทำได้ง่ายขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงแฟรนไชส์ในบางสถานะการณ์อาจลดการแข่งขันด้วย

          28. Free Rider หรือ Free Riding (การใช้ประโยชน์จากการส่งเสริมการขายของผู้อื่น)
          Free Rider หรือ Free Riding เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่งได้รับผลประโยชน์จากการกระทำและความพยายามของอีกบริษัทโดยไม่มีการจ่ายหรือแบ่งปันค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกอาจเลือกที่จะเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกหัดพนักงานเพื่อสาธิตให้ผู้ที่เป็นลูกค้ารู้ถึงวิธีการทำงานของเครื่องใช้ในครัวโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเพิ่มยอดขาย อย่างไรก็ตาม ต่อมาลูกค้าอาจเลือกที่จะซื้อสินค้าจากผู้ค้าปลีกรายอื่นซึ่งขายสินค้าราคาต่ำกว่า เนื่องจากกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกหัดพนักงานและการสาธิต ผู้ค้าปลีกรายที่สองนี้ถือว่าเป็น "Free-riding" ของผู้ค้าปลีกรายแรก ถ้าหากสถานะการณ์เช่นนี้ยังคงอยู่ผู้ค้าปลีกรายแรกจะไม่มีแรงจูงใจที่จะดำเนินการสาธิตสินค้าต่อไป

          29. Holding Company (บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว)
          บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้เงินทุนเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากบริษัทที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่ แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อมาควบคุมการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วมิใช่เพื่อดำเนินการแต่โดยทั่วไปจะมีผู้แทนของบริษัท holding เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่

          30. Homogeneous Product (ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน)
          ผลิตภัณฑ์จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันได้เมื่อทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์และผู้ซื้อไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายโดยบริษัทที่ต่างกัน ราคาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการเดียวซึ่งบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เหมือนกันแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์แสดงว่าเมื่อบริษัทเช่นนี้มีจำนวนน้อยการมีผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันอาจช่วยให้การรวมหัวกันทำได้ง่าย และการทำความตกลงร่วมกันอาจพบในผลิตภัณฑ์ เช่น ซีเมนต์ แป้ง เหล็ก และน้ำตาล

ที่มา : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=2440.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น